วันจันทร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2557

10 สถานที่ท่องเที่ยวในภาคอีสาน





1.ภูกระดึง จังหวัดเลย

         


           ภูกระดึง หรือ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับความนิยมมากแห่งหนึ่งของเมืองไทยเพราะมีสภาพธรรมชาติสมบูรณ์ประกอบด้วยระบบนิเวศและภูมิประเทศหลากหลายทั้งทุ่งหญ้า ป่าสนเขา ป่าดิบ น้ำตกและหน้าผาชมทิวทัศน์ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนไปสัมผัสความงามของสถานที่แห่งนี้มากมาย ซึ่งเส้นทางขึ้นภูกระดึงจุค่อนข้างชัน นักท่องเที่ยวจะต้องค่อย ๆ เดินขึ้นเขาไปเรื่อย ๆ โดยจะมีจุดแวะพักที่ “ซำ” หมายถึง บริเวณที่มีแหล่งน้ำใต้ดินผุดขึ้นมาแต่ละจุดมีเครื่องดื่มและอาหารบริการ ทั้งหมดนี้เป็นแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวปรารถนาจะเป็นผู้พิชิตยอดภูกระดึงสักครั้งหนึ่งในชีวิต เพื่อทดสอบแรงกายและแรงใจ

         


2.สามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี



          
           สามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี สถานที่ที่ถูกเรียกว่า “แกรนด์แคนยอนเมืองไทย” ด้วยมีลักษณะของความงามของแก่งหินขนาดใหญ่ในลำน้ำโขง และวิถีชีวิตริมคลองสองฝั่งโขงนั้นงดงาม จนน่ามหัศจรรย์ไม่แพ้แกรนด์แคนยอน รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา โดยสามพันโบกเป็นแก่งหินที่อยู่ใต้ลำน้ำโขง เนื่องจากในช่วงฤดูน้ำหลากแก่งหินแห่งนี้จะจมอยู่ใต้บาดาล และด้วยแรงน้ำวนกัดเซาะทำให้แก่งหินกลายเป็นแอ่งเล็กใหญ่ จำนวนมากกว่า 3,000 แอ่ง หรือสามพันโบก โดยคำว่า “โบก” ภาษาท้องถิ่นนั้นแปลได้ว่า “แอ่ง” จนเป็นที่มาของชื่อ “สามพันโบก” ในช่วงหน้าแล้งสามพันโบกจะโผล่พ้นน้ำให้เห็นเป็นคล้ายภูเขากลางลำน้ำโขง ความสวยงามวิจิตรของหินที่ถูกน้ำเซาะมองเห็นเป็นภาพศิลปะ บางแอ่งใหญ่ขนาดเป็นสระว่ายน้ำ บางแอ่งขนาดเล็ก มีรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามจินตนาการที่สวยงามและน่าอัศจรรย์
           สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสความงามของแก่งสามพันโบกทั้งช่วงเช้าตรู่และช่วงยามเย็นพระอาทิตย์อัสดง ก็จำเป็นต้องหาและจองที่พักล่วงหน้า โดยที่พักส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณริมหาดสลึง จุดลงเรือท่องเที่ยวนั่นเอง มีที่พักสวยหลากสไตล์ทั้งแบบเห็นวิวหาดทรายและแม่น้ำโขงแบบใกล้ชิด หรือที่พักราคาประหยัดก็มีให้บริการ ในด้านอาหารการกินก็ไม่ต้องกังวล เพราะที่หาดสลึงก็มีร้านอาหารอร่อยมากมายบริการคุณทั้งเมนูปลาแม่น้ำโขง อาหารไทยตามสั่งทั่วไป อาหารพื้นบ้าน และอาหารอีสานมากมายให้คุณเลือกชิมกันจนอิ่มหนำสำราญ

        

       

3.พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม



           พระธาตุพนม หรือ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร วัดพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ที่เป็นปูชนียสถานที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน ซึ่งผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีลงความเห็นว่าพระธาตุพนมสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1200-1400 ตามตำนานกล่าวว่าผู้สร้างคือ พระมหากัสสปะ พระอรหันต์ 500 องค์ และท้าวพระยาเมืองต่าง ๆ ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระอุรังคธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ ลักษณะของสถาปัตยกรรมมีแหล่งที่มาที่เดียวกันกับปราสาทของขอม และได้ทำการบูรณะเรื่อยมา ในปี พ.ศ. 2485 ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกขึ้นเป็น “วรมหาวิหาร”

           แต่ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518 เวลา 19.38 น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงทั้งองค์ เนื่องจากความเก่าแก่ขององค์พระธาตุพนม และประจวบกับระหว่างนั้นฝนตกพายุพัดแรงติดต่อกันมาหลายวัน ประชาชนทั้งประเทศได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์และรัฐบาลได้ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิม การก่อสร้างนี้เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2522 นอกจากพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในองค์พระธาตุแล้ว ยังมีของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้น โดยเฉพาะฉัตรทองคำบนยอดพระธาตุเป็นฉัตรทองคำที่มีน้ำหนักถึง 110 กิโลกรัม

       


4.ดินแดนทุ่งดอกกระเจียวงาม จังหวัดชัยภูมิ



           จังหวัดชัยภูมิ ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวอยากจะไปเยือนเมื่อดอกกระเจียวผลิบาน โดยเฉพาะพื้นที่ อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม และ อุทยานแห่งชาติไทรทอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของทุ่งดอกกระเจียวป่าสีชมพูสีสันสดใสงดงามตัดกับสีเขียวของลำต้นและใบหญ้า ขึ้นแทรกอยู่เป็นระยะท่ามกลางต้นหญ้าและและป่าไม้นานาชนิด

           สำหรับ อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอเทพสถิต และอำเภอซับใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ มีสภาพป่าสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลุ่มน้ำชีและแม่น้ำป่าสัก มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง โดยเฉพาะทุ่งดอกกระเจียวที่มีดอกสีชมพูอมม่วงชูดอกสะพรั่งในช่วงต้นฤดูฝนเท่านั้น คือ เดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคมของทุกปี โดยนับเป็นพันธุ์ไม้ประจำถิ่นที่ขึ้นมากที่สุดในประเทศไทย ณ แห่งนี้ ปกติจะพบขึ้นกระจายทั่วไปตั้งแต่ลานหินงามจนถึงจุดชมวิวสุดแผ่นดิน 1 กิโลเมตร ซึ่งทางอุทยานฯ มีการทำสะพานทางเดิน สำหรับนักท่องเที่ยวเดินไปชมความงามของทุ่งดอกกระเจียวไว้เป็นส่วน ๆ พร้อมทั้งไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวลงเหยียบบนพื้นดินโดยตรง เพราะนอกจากจะไปเหยียบย่ำทำลายต้นดอกกระเจียวแล้วยังอาจเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ของธรรมชาติบริเวณนั้น 

        


5.แหล่งมรดกโลกบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี



           พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง หรือ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เป็นแหล่งทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ประมาณ 25 ไร่เศษ จัดแสดงวิถีชีวิตของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์อายุราว 1,822-4,600 ปี เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ ย้อนหลังไปกว่า 5,000 ปีการเดินทางไป พิพิธภัณฑ์นี้ได้แบ่งการจัดแสดงออกเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ ได้แก่

           1. การจัดแสดงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่อาคารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยแบ่งตามห้องจัด แสดง เช่น ห้องจัดแสดงขั้นตอนการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์, ห้องสมัยก่อนประวัติศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ห้องจัดแสดงโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมบ้านเชียง จากบ้านนาดี ตำบลพังงา อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี จากบ้านนาโก ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย และจากจังหวัดหนองคาย, ห้องจัดแสดงโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ จากบ้านธารปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา และห้องจัดแสดงโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมบ้านเชียง จากหลายแหล่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ที่จังหวัดอุดรธานี และแหล่งโบราณคดีใกล้เคียง

           2. การจัดแสดงสมัยก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบ้านเชียง ที่อาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แบ่งการจัดแสดงออกตามห้องดัง ได้แก่ ห้องโลหะกรรม จัดแสดงเกี่ยวกับการขุดค้นทางโบราณคดีบ้านเชียง และเรื่องราวของการทำสำริดและเหล็ก รวมถึงแหล่งแร่โบราณตามแหล่งต่าง ๆ ด้วย, ห้องเครื่องปั้นดินเผา เป็นห้องที่จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผา การกำหนดอายุลักษณะเครื่องปั้นดินเผาแบบต่าง ๆ ภาชนะดินเผากับประเพณีการฝังศพ ตลอดจนเทคนิคการผลิตภาชนะดินเผาที่บ้านเชียง, ห้องบ้านเชียง การค้นพบสำริดที่สาบสูญ เป็นนิทรรศการที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2525-2529 แสดงผลการสำรวจขุดค้น ศึกษา และวิจัยหลักฐานทางโบราณคดี ที่ได้จากการขุดค้นร่วมกันระหว่างกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่บ้านเชียง เมื่อปี พ.ศ. 2517-2518 และห้องบ้านเชียงวันนี้ เป็นการรวบรวมข้อมูลและวัตถุพื้นบ้านของชาวบ้านเชียงในปัจจุบัน ซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นชาวพวน มาจากเมืองเชียงขวาง ประเทศลาว มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านเชียงตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์หรือเมื่อประมาณ 200ปีมาแล้ว ซึ่งเดิมมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่เมื่อมีการขุดพบโบราณคดีที่บ้านเชียง สังคมและการดำรงชีวิตส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนแปลงไป



           นอกจากนี้ ยังมีแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีวัดโพธิ์ศรีใน ที่อยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียง ประมาณ 500 เมตร เป็น 1 ในหลายแห่งที่ขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียง แหล่งนี้ได้ขุดค้นเมื่อปี พ.ศ. 2515 เป็นหลุมขุดค้นที่จัดอยู่สมัยปลายของวัฒนธรรมบ้านเชียง มีอายุระหว่าง 2300-1800 ปีมาแล้ว สมัยนี้ภาชนะดินเผาจะเขียนลายพื้นสีแดงบนลายสีนวลเขียนลายสีแดงบนพื้นสีแดง และฉาบด้วยน้ำดินสีแดงแล้วขัดมัน ส่วนด้านโลหะกรรม ยุคนี้รู้จักการนำเหล็กมาใช้ได้แล้ว ส่วนสำริดถึงแม้จะพบทำเป็นเครื่องใช้น้อยลง แต่ยังคงทำเป็นเครื่องประดับที่พัฒนาด้านความประณีต และสวยงามมากกว่าทุกสมัย และบ้านไทพวน อยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 700 เมตร เดิมเป็นบ้านของ นายพจน์ มนตรีพิทักษ์ มอบให้กรมศิลปากร เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เป็นโบราณสถาน และได้มีการขุดค้นตามหลักวิชาการทางโบราณคดี ได้พบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก ซึ่งบริเวณบ้านไทพวนจะปลูกต้นไม้ พืชผักสวนครัว รั้วบ้าน กินได้ ให้เข้ากับวิถีชีวิตแบบท้องถิ่นไทพวน

         

6.อุทยานประวัติศาสตร์ จังหวัดบุรีรัมย์





           อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ตั้งอยู่บ้านตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญคือ ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตร (คำว่า พนมรุ้ง หรือ วนํรุง เป็นภาษาเขมรแปลว่า ภูเขาใหญ่) โดยเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงพุทธศตวรรษที่ 17 และในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม ได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาในช่วงนั้น

          



 7.มอหินข้าว จังหวัดชัยภูมิ



           มอหินขาว หรือ สโตนเฮนจ์เมืองไทย ตั้งอยู่ที่บ้านวังคำแคน ตำบลท่าหินโงม ห่างจากตังเมืองชัยภูมิไปทางทิศเหนือประมาณ 40 กิโลเมตร ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติภูแลนคาด้านทิศเหนือ เป็นเนินเขาที่มีหินทรายสีขาวขนาดมหึมา ตั้งตระหง่านโพล่พ้นต้นหญ้า ยามต้องแสงแดดในเวลากลางวัน และช่วงเวลาหลังฝนตกไม่นานจะมองเห็นก้อนหินสีขาวเด่นชัดจากระยะไกล เป็นที่สะดุดตาแก่ผู้พบเห็น

           จากหลักฐานจากกรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับจังหวัดชัยภูมิ เริ่มสำรวจเมื่อปี 2545 พบว่า การเรียงลำดับชั้นหินและอายุที่ได้จากซากดึกดำบรรพ์ต่าง ๆ มีอายุระหว่าง 195-175 ล้านปี เพราะการสะสมของตะกอนทราย แป้ง และดินเหนียวหลังจาก 65 ล้านปีผ่านมา เกิดการเคลื่อนไหวของเปลือกโลกและแรงบีบด้านข้างทำให้มีการคดโค้ง แตกหัก ผุพัง และการกัดเซาะ ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ก่อให้เกิดลักษณะของเสาหินและแท่งหินอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ลักษณะด้านกายภาพของพื้นที่มอหินขาว ประกอบด้วยกลุ่มหินแบบเสาหิน แท่นหิน และลานหิน ซึ่งมีรูปร่างและลักษณะแตกต่างกันออกไปตามจินตนาการของผู้พบเห็น ลักษณะเป็นก้อนหินใหญ่แปลกตา หาดูยาก รูปร่างคล้ายเห็ด เรือ ช้าง เต่า และเจดีย์ กระจายอยู่ทั่งไปบนเนินเขาสูง

       

8.โบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้ จังหวัดยโสธร



           โบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองซ่งแย้ หมู่ 2 ตำบลคำเตย อำเภอไทยเจริญ ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 45 กิโลเมตร (ตามทางหลวงหมายเลข 2169 ยโสธร-เลิงนกทา) เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยว Unseen in Thailand เป็นโบสถ์คริสต์ที่สร้างด้วยไม้ขนาดใหญ่ ใช้เสาไม้ทั้งเล็กและใหญ่กว่า 300 ต้น และไม้มุงหลังคา 80,000 แผ่น เป็นโบสถ์คริสต์สร้างด้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีอายุกว่า 50 ปี และตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา ทางจังหวัดยโสธรได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดพิธีสมรสหมู่แบบคาทอลิกให้กับคู่บ่าวสาวในวันวาเลนไทน์ของทุกปี ณ โบสถ์แห่งนี้ด้วย

           สำหรับประวัติความเป็นมา มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า ในปี ค.ศ. 1908 มีผู้หนีตายอพยพจากที่ต่าง ๆ กันเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้รวม 5 ครอบครัว ซึ่งหนีมาด้วยสาเหตุเดียวกัน คือ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ ชาวบ้านในหมู่บ้านจึงรุมทำร้ายและขับไล่ จากนั้นได้เดินทางไปหา บาทหลวงเดชาแนล และบาทหลวงออมโบรซีโอ ที่บ้านเซซ่ง ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ขอให้ไปช่วยขับไล่ผีปิศาจที่สิงสู่อยู่กับตนและครอบครัว ซึ่งบาทหลวงทั้ง 2 ท่าน ก็ยอมเข้าป่าลึกไปตามคำขอ เมื่อรู้สึกดีขึ้น ทั้ง 5 ครอบครัว จึงเข้านับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ต่อมาบ้านหนองซ่งแย้ มีผู้คนอพยพไปอยู่มากขึ้น ในปี ค.ศ. 1909 ชาวบ้านปลูกกระต๊อบฝาขัดแตะเล็ก ๆ ใช้ประกอบพิธีทางศาสนา นับว่าเป็นจุดกำเนิดวัดซ่งแย้ หรือชื่ออย่างเป็นทางการภาษาละตินว่า วัดอัครเทวดามิคาแอล ตามชื่อนักบุญองค์สำคัญ เป็นภาษาอังกฤษ คือ โบสถ์ เซนต์ไมเคิล เป็นภาษาฝรั่งเศส คือ โบสถ์แซงต์ มิเชล โดยมี บาทหลวงเดชาแนล เป็นอธิการโบสถ์คนแรก และคนในบ้านหนองซ่งแย้ซึ่งล้วนแต่เป็นชาวไทยอีสาน ได้มาเข้ารีตถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเกือบทั้งหมด
        


9.เขตรักษาพันธุ์สตว์ป่า จังหวัดเลย




           ภูหลวง มีความหมายว่าเขาที่สูงใหญ่ หรือหมายถึงภูเขาของพระเจ้าแผ่นดิน เกิดจากการยกตัวของพื้นผิวโลกและดินส่วนที่อ่อนพัดพาลงสู่พื้นที่ส่วนต่ำ ภูหลวงประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2517 มีพื้นที่ประมาณ 560,593 ไร่ สภาพทั่วไปเป็นพื้นที่ราบสูง อากาศเย็นตลอดปี ตั้งอยู่ในบริเวณท้องที่อำเภอวังสะพุง อำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้าย และอำเภอภูหลวง ฤดูกาลบนภูหลวงมี 3 ฤดู เหมือนพื้นราบแต่ระดับอุณหภูมิต่างกัน

           ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 20-24 องศาเซลเซียส จะมีดอกไม้ที่มีสีสันเจิดจ้าสวยงามเช่นเอื้องตาเหิน กล้วยไม้ป่าดอกขาว กุหลาบขาว และกุหลาบแดง ส่วนฤดูฝนอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม อุณหภูมิใกล้เคียงหรือสูงกว่าหน้าร้อนเล็กน้อยจะมีดอกไม้ป่าดอกเล็ก ๆ สีชมพูอมม่วงขึ้นแซมตามทุ่งหญ้าและเทียนน้อย ขณะที่ฤดูหนาวอุณหภูมิลดลงมาก เฉลี่ย 0-16 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม บางวันอุณหภูมิลดลงถึง -4 องศาเซลเซียส จะมีก่วมแดงหรือที่รู้จักกันว่าเมเปิล จะเปลี่ยนสีแดงแล้วผลัดใบ ตามพื้นดินจะเห็นต้นกระดุมเงินและรองเท้านารีปีกแมลงปอขึ้นอยู่บนก้อนหินและตามพื้นป่าดิบเขา

       

10.เชียงคาน จังหวัดเลย



           เชียงคาน เป็นอำเภอเล็ก ๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขงสงบเงียบ ในย่านชุมชนยังคงมีห้องแถวไม้ บ้านไม้เก่า แก่ที่ยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้ เป็นเสน่ห์ที่สุดคลาสสิกของเชียงคาน บางแห่งตกแต่งทำเป็นที่พัก ร้านอาหาร ร้านค้าสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักผ่อนแบบสบาย ๆ ใกล้ชิดกับชุมชน กิจกรรมที่น่าสนใจ คือตักบาตรตอนเช้า ชมวัด และล่องเรือชมทิวทัศน์สองฝั่งโขง สินค้าที่ขึ้นชื่อของเชียงคาน คือ ผ้านวม  มะพร้าวแก้ว ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนไม่ควรพลาดที่จะซื้อเป็นของฝาก



ที่มา http://travel.kapook.com/view74007.html